เหล็กเวียดนาม เร่งบันได 3 ขั้น ดัน “กรีน สตีล” ตีตลาดโลก-ไทย

15 กรกฎาคม 2567
เหล็กเวียดนาม เร่งบันได 3 ขั้น ดัน “กรีน สตีล” ตีตลาดโลก-ไทย

เวียดนามเร่งบันได 3 ขั้น ดันสู่แชมป์เหล็กอาเซียน และอันดับต้นโลก ขณะปกป้องเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักประเทศ พร้อมดันส่งออกเพิ่ม ชู “กรีน สตีล”ตีตลาดโลก จับตาอนาคตส่งออกมาไทยเพิ่ม หลังปี 66 ไทยนำเข้าเหล็กเวียดนาม 6,165 ล้านบาท

อุตสาหกรรมเหล็กไทยกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากสินค้าเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเหล็กราคาตํ่าจากจีนที่ผลิตเกินความต้องการในประเทศ จากเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัญหาชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กไทยหลายรายทยอยปิดตัวจากไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ล่าสุดเวียดนามอีกหนึ่งผู้ประเทศผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญของอาเซียนกำลังเร่งแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่อาจส่งผลกระทบเหล็กไทยในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมเหล็กระหว่างประเทศที่น่าจับตาเวลานี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในอนาคตคือ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้มีแรงผลักดันสำคัญจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล็ก เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเหล็กจากไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเวียดนามให้เป็นที่หนึ่งในอาเซียนและอันดับต้นของโลก โดยมีนโยบาย (บันได) 3 เรื่อง(ขั้น) คือ

ขั้นที่ 1 ผลิตและส่งออกเพิ่มรวดเร็ว โดยแรงส่งจากจีนและรัสเซีย (สมัยเวียดนาม-ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ) ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ตามด้วยแรงส่งจากนโยบาย Doi Moi (การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเน้นวางแผนส่วนกลางไปสู่เศรษฐกิจระบบตลาดและเปิดประเทศมากขึ้น) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเหล็กของเวียดนามจาก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ปี 2556) เพิ่มเป็น 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2564) โดยส่งออกได้ 13 ล้านตัน มีอาเซียนเป็นตลาดหลัก กัมพูชาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุด ตามด้วยสหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย และเกาหลีใต้

การส่งออกเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตเหล็กเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ปี 2560 เวียดนามผลิตเหล็ก 11.5 ล้านตันต่อปี (ความต้องการ 22 ล้านตันต่อปี) ปี 2565 ผลิต 19 ล้านตัน เป้าหมาย 66 ล้านตันในปี 2578 นโยบายส่งออกมีหลัก ๆ คือ 1.อัตราการขยายตัวในปี 2568 อยู่ที่ 80-85% และ 90% ในปี2593 2.ร่วมมือกับนานาชาติให้มากขึ้น 3.ส่งออกเหล็กคาร์บอนตํ่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ Hydrogen Energy Strategy 2030-2050 ทั้งนี้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก(GHG) ของประเทศ และหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) รวมถึงจากประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังเตรียมจัดเก็บภาษีคาร์บอน 4.กระจายตลาดส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้นและรักษาฐานตลาดอาเซียน

บันไดขั้นที่ 2 ปกป้องเหล็กในประเทศ แม้ว่าเวียดนามเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ แต่การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น มาจากการทำข้อตกลงการค้าหลาย ๆ ฉบับของเวียดนาม และบันไดขั้นที่ 3 From Gray Steel to Green Steel เหล็กเวียดนามปล่อย 7% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เวียดนามจึงตั้งเป้าผลิตเหล็กสีเขียว(กรีนสตีล)ให้ได้ปีละ 9.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดคาร์บอน ใช้ 2 วิธีสำคัญคือการใช้พลังงานไฮโดรเจน และการดักเก็บและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

 “บันได 3 ขั้นของเวียดนาม ไทยจะได้รับผลกระทบ จากเหล็กราคาถูกเวียดนามจะเข้ามาในไทยมากขึ้น (ปี 2566 ไทยนำเข้าเหล็กเวียดนาม 6,165 ล้านบาท อยู่อันดับ 7 ของการนำเข้า) และแม้ว่าไทยจะปกป้องเหล็กภายในประเทศเหมือนที่เวียดนามกำลังทำ แต่เทียบกันแล้ว เวียดนามมีนโยบายการบังคับใช้กฎหมาย และการปกป้องที่เข้มข้นกว่าไทย เพราะเวียดนามกำหนดเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่เหล็กไทยเป็นเพียงอุตสาหกรรมรองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นเท่านั้น”


แหล่งที่มา : ฐานเศรษบกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.